10 เคล็ดลับ หารองเท้าวิ่งคู่ที่ใช่
"หารองเท้าวิ่งก็เหมือนหาคู่ ไม่มีคู่ที่ดีที่สุด แต่มีคู่ที่เหมาะที่สุด"
ตอนที่แอดมินมาเริ่มวิ่งใหม่ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เจ็บเข่าตลอดเป็นปี สาเหตุมาจากหลายๆ อย่างที่ตอนนั้นยังไม่รู้ เช่น กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง ไม่ได้วอร์มอัพ ไม่ได้ยืดเหยียด ท่าวิ่งไม่ถูก เพิ่มระยะเร็วเกินไป ซึ่งทุกอย่างแก้ไขได้เมื่อผ่านการฝึกฝน จนร่างกายแข็งแรงขึ้น ยืดหยุ่นได้ดีขึ้น แต่ตอนที่เจ็บเข่าถ้าต้องหยุดวิ่งแล้วรอหายเจ็บก็ขาดความต่อเนื่อง
ยากทุกครั้งที่ต้องเริ่มต้นใหม่ จึงหาอุปกรณ์เท่าที่คิดออกมาช่วย ตอนนั้นหาที่รัดเข่ามาใส่เวลาวิ่ง และหารองเท้าวิ่งที่ซัพพอร์ทดีมาเป็นตัวช่วย ซึ่งก็ทำให้วิ่งได้จนถึงทุกวันนี้ รองเท้าวิ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุดของนักวิ่ง ช่วยรับแรงกระแทก และช่วยลดแรงที่กระทำต่อร่างกายและข้อต่อต่างๆ ข้อเท้า หัวเข่า สะโพก และยังปกป้องเท้าให้ปลอดภัย แต่รองเท้าวิ่งในท้องตลาดมีมากมายเราจะเลือกอย่างไร คู่ไหนคือคู่ที่ใช่
…
วิธีเลือกรองเท้าวิ่ง By Monster Run Thailand
หารองเท้าก็เหมือนหาคู่ ไม่มีรองเท้าวิ่งที่ดีที่สุด แต่มีรองเท้าวิ่งที่เหมาะที่สุด เราต้องรู้จักตัวเราเอง และรู้จักรองเท้าก่อน เพื่อจะได้หาคู่ที่ใช่
…
1. รู้จักลักษณะเท้า เพื่อให้ได้รองเท้าที่เหมาะกับรูปเท้า
ง่ายๆทำได้ด้วยตัวเองแค่ใช้เท้าเหยียบน้ำแปะบนกระดาษ ดูรูปทรงเท้า ถ้าลูกค้ามาที่ร้านจะมีแผ่นวัดอุณหภูมิเท้าให้ทดสอบ
อุ้งเท้าปกติ Medium Arch
อุ้งเท้าสูง High Arch
อุ้งเท้าต่ำ Low Arch
อุ้งเท้าแบน Flat Feet
…
2. รู้จักการลงน้ำหนักเท้า การที่ลักษณะเท้าหมุนจากด้านนอกเข้าด้านใน
ถ้ามีลู่วิ่งสามารถถ่ายวีดีโอแบบ Slow Motion เพื่อดูด้านหลังในขณะที่เท้ากระทบพื้นตอนวิ่ง เพื่อให้รู้ลักษณะการลงน้ำหนักเท้า
ลงน้ำหนักแบบปกติ (Neutral)
ลงน้ำหนักแบบข้อเท้าล้มออกนอก (Underpronation)
ลงน้ำหนักแบบข้อเท้าล้มเข้าใน (Overpronation)
อีกจุดที่ควรสังเกตก็คือให้ดูว่าพื้นรองเท้าวิ่งสึกตรงส่วนไหน ถ้าสึกด้านในเยอะจะมีลักษณะเท้าแบน ลงน้ำหนักแบบ Overpronation หรือถ้าสึกด้านนอกเยอะ เป็นการลงน้ำหนักแบบ Underpronation
คนที่มีเท้าปกติลงน้ำหนักแบบ Neutral สามารถใส่รองเท้าได้ทุกรุ่น
คนที่มีอุ้งเท้าสูงลงน้ำหนักแบบ Underpronation ควรใช้รองเท้าที่มี Cushioning นุ่มๆ รับแรงกระแทกสูง
คนที่มีอุ้งเท้าต่ำ หรือเท้าแบน ลงน้ำหนักแบบ Overpronation ควรใช้รองเท้า Stability ที่มีซัพพอร์ทบริเวณอุ้งเท้าเป็นต้น
…
3. รู้จักขนาดเท้า เพื่อให้ได้ขนาดที่เหมาะที่สุด รองเท้าวิ่งควรเผื่อมากกว่ารองเท้าใส่ลำลอง เพราะเท้าจะขยายตัวเมื่อวิ่งไปสักพัก
วาดเท้าบนกระดาษและวัดขนาด
วัดขนาดความยาวเป็น เซนติเมตร แล้วบวก 1.5 ซม. (คนเท้ากว้างอาจต้องบวก 2 cm) จะได้ขนาดรองเท้าเป็น cm
เทียบกับตาราง Size Chart ว่าเท่ากับกี่ US เช่น ขนาด 26 cm = 8 us ชาย หรือ 9.5 us หญิง เป็นต้น รองเท้าบางรุ่นจะมีรุ่นสำหรับคนเท้ากว้าง เช่น D 2E 4E เพื่อรองรับคนที่หน้าเท้ากว้างอีกด้วย
…
4. รู้จักประเภทรองเท้า เพื่อให้ได้รองเท้าที่ตรงจุดประสงค์การใช้งาน
รองเท้าวิ่งเน้นนุ่มรับแรงกระแทกได้ดี Cushioning Shoes
รองเท้าวิ่งสำหรับคนเท้าแบน Stability Shoes
รองเท้าวิ่งที่มีน้ำหนักเบา Lightweight Shoes
รองเท้าวิ่งสำหรับใส่ซ้อม Training Shoes
รองเท้าวิ่งใส่ซ้อมทำความเร็ว Fast Training Shoes
รองเท้าวิ่งสำหรับใส่แข่ง Racing Shoes
รองเท้าวิ่งที่มีคาร์บอนช่วยในการส่งแรง Shoes with Carbon Plate
รองเท้าวิ่งเทรล เหมาะกับวิ่งในป่า ขึ้นเขา Trail Running Shoes
รองเท้าวิ่งถนนและเทรลในคู่เดียว Hybrid Shoes
…
5. รู้จักดรอปของรองเท้า เพื่อให้ได้รองเท้าที่ซัพพอร์ทเหมาะสมกับท่าวิ่ง
ดรอป คือ ความแตกต่างของความสูงจากพื้นของพื้นส่วนหน้า และพื้นส่วนส้น เมื่อวัดจากพื้น หรือพูดง่ายๆก็คือ พื้นส่วนส้นสูงกว่าพื้นด้านหน้ากี่ ซม.
ดรอปต่ำ (0-4) เช่น Altra Newton Vibram เหมาะกับคนวิ่งลงหน้าเท้า
ดรอปกลาง (5-8) เช่น Hoka Saucony Salming On Topo เหมาะกับคนวิ่งลงกลางเท้า
ดรอปสูง (9-12) เช่น Mizuno Asics Nike Adidas เหมาะกับคนวิ่งลงส้นเท้า
*ดรอปของแต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่นอาจต่างกันไปต้องเช็คเป็นรุ่นๆไป บางแบรนด์มีดรอปที่หลากหลายมาก
…
6. รู้จักรูปทรงพื้นและความหนา ที่เป็นไปตามกระแส เทคโนโลยี และแนวคิดการออกแบบในช่วงนั้น ๆ
รูปทรงพื้น
พื้น Flat แบบเรียบ เหมาะกับท่าวิ่งแบบเป็นธรรมชาติ เช่น Saucony Kinvara / Altra Escalante / Asics Tarther
พื้น Rocker แบบโค้ง เพื่อให้การวิ่งลื่นไหลเหมือนวงล้อ มีแรงไหลไปข้างหน้า เช่น Hoka Carbon X3 / Saucony Endorphin Pro 3 / Asics Novablast 3 / On Cloudmonster
ความหนาพื้น
กระแสของการออกแบบรองเท้าวิ่ง ก็คล้ายกับการออกแบบสินค้าอื่น มีฝั่งที่มีแนวคิดแบบมากคือดี Maximal พื้นหนา หรืออีกมุม มองว่า น้อยคือดี Minimal พื้นบาง ช่วง 3-4 ปีมานี้รองเท้าพื้นหนาซัพพอร์ทสูงกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการวิ่งทำลายสถิติโลกของ Kipchoge โดยรองเท้าพื้นหนาเสริมด้วยคาร์บอน ทำให้แนวโน้มรองเท้าวิ่งเทมาทางพื้นหนาในปัจจุบัน
ชอบแบบ Minimal คือ พื้นบาง เรียบ เน้นการปรับท่าวิ่ง การวิ่งที่เป็นธรรมชาติ วิ่งลงกลางเท้า หรือหน้าเท้า
ชอบแบบ Maximal คือ พื้นหนา นุ่ม เน้นรับแรงกระแทก พื้นโค้งช่วยให้ไหลลื่น เหมือนเป็นวงล้อ บางรุ่นอาจมีคาร์บอนช่วยดีดส่งแรง
…
7. รู้จักวัสดุพื้นชั้นกลาง
Midsole ถือเห็นหัวใจของรองเท้าวิ่ง แต่ละแบรนด์แข่งกันที่ทำให้วัสดุส่วนนี้ รับแรงกระแทกได้ดี ส่งแรงคืนกลับ มีน้ำหนักที่เบา และมีความทนทาน วัสดุที่เป็นที่นิยม เช่น EVA TPU PEBA เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีสูตรเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างแบรนด์ Saucony ในรุ่น Kinvara 11 จะใช้ EVA รุ่น Freedom 3 จะใช้ TPU และ Endorphin Pro ใช้วัสดุ PEBA โดย PEBA จะมีน้ำหนักเบาสุดและคืนตัวส่งแรงได้ดีสุด แต่มีราคาสูงจึงใช้แต่ในรุ่นท๊อปๆ
…
8. รู้จักวัสดุด้านบน
Upper ในปัจจุบันมีผ้าตาข่าย Mesh และ ผ้า Knit โดยผ้าตาข่ายจะระบายได้ดีกว่า เบากว่า มีความหนาบางต่างกันไป เช่น รองเท้าวิ่งสายแข่งจะเน้นน้ำหนักเบาใช้ผ้า Mesh ชั้นเดียว ส่วนรองเท้าวิ่งสายซ้อมผ้าจะหนากว่า อาจเป็น Mesh ซ้อน 2 ชั้น จึงทนกว่าแต่หนักกว่า ส่วนผ้า Knit จะเน้นกระชับเท้ามากกว่า แนบไปกับเท้า แต่การระบายสู้ผ้า Mesh ไม่ได้
…
9. รู้จักวัสดุพื้นส่วนนอก
Outsole วัสดุยางที่ช่วยยึดเกาะ และช่วยปกป้องพื้นชั้นกลางที่เป็นโฟมจากการเสียดสีกับพื้น การออกแบบลายพื้น ความหนาของดอก ช่วยในการยึดเกาะกับพื้นผิว ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นรองเท้าเทรลจะให้ความสำคัญกับการออกแบบ Outsole เป็นอย่างมากเพื่อช่วยยึดเกาะได้ดีในสนามเทรล
…
10. ทดลองสวม
เมื่อเลือกรองเท้าที่เหมาะแล้ว ให้ทดลองสวม ดีที่สุดคือลองตอนที่เท้าขยายตัวแล้ว เช่น ลองสวมหลังวิ่งเสร็จ หรือลองสวมในช่วงเย็น และให้ใช้ถุงเท้าที่ใส่วิ่งเป็นประจำ รองเท้าที่ดีต้องใส่แล้วกระชับ ไม่หลุดส้นหรือใส่แล้วเจ็บ ต้องไม่บีบหลังเท้า ควรเผื่อความยาวด้านหน้าไม่ให้นิ้วชน ด้านข้างต้องไม่บีบ ถึงแม้ว่าจะหาคู่ที่ชอบได้แล้วแต่ถ้าใส่ไม่สบายก็ไม่ใช่คู่ที่ใช่อยู่ดี
…
หารองเท้าก็เหมือนหาคู่ ต้องทำความรู้จักเท้าของตัวเอง และรองเท้าเพื่อให้ได้คู่ที่เหมาะที่สุด หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ทำให้เลือกรองเท้าวิ่งได้เหมาะสม ซึ่งบทความนี้เป็นเพียงข้อแนะนำเบื้องต้น เนื้อหามาจากการเรียบเรียงข้อมูล รวมกับการที่ได้สังเกต และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ นักวิ่ง ที่มาลองรองเท้าที่ร้าน เพื่อนๆ มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมมาได้นะครับ
…
Line ID: @monsterrun Tel.022118304
…
…